ข่าวบริษัท
สหพัฒน์ จับมือ ราชพัฒนา เปิดตัวโครงการ Solar Floating ริมรันเวย์สนามบิน ใน 4 สวนอุตสาหกรรม

กรุงเทพฯ, 27 มิถุนายน 2568 – บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPI เดินหน้ายกระดับ สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์สู่ความยั่งยืน โดยลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท ราชพัฒนา เอ็นเนอร์ยี จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ให้เป็นผู้พัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้า ในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ทุกแห่ง พร้อมเปิดตัวโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ (Solar Floating) แห่งแรกที่ตั้งอยู่ในอ่างเก็บน้ำริมรันเวย์สนามบิน ภายในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ - ลำพูน โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งพิธีลงนาม MOU และสัญญา ซื้อขายไฟฟ้า (Private PPA) ได้จัดขึ้น ณ ห้องประชุม SILK 1 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
โครงการดังกล่าวสะท้อนวิสัยทัศน์ของผู้บริหารเครือสหพัฒน์ ในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด โดยเฉพาะในบริบทที่มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม เช่น CBAM ของสหภาพยุโรป หรือ พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Act) เข้ามามีบทบาทต่อการดำเนินธุรกิจของภาคอุตสาหกรรมไทยมากขึ้น การใช้พลังงานหมุนเวียน จึงกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก และยังสอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) และแผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) ของประเทศไทย ที่ตั้งเป้าให้พลังงานหมุนเวียน มีสัดส่วนมากกว่า 30% ของพลังงานทั้งหมดภายในปี 2580 นอกจากนี้ ยังเป็นการต่อยอดจากโครงการนำร่อง ที่สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์-ศรีราชา ซึ่งดำเนินการจนประสบความสำเร็จเมื่อปี 2564
นายสนทยา ทับขันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “โครงการนี้สะท้อนเจตนารมณ์ของเราที่ต้องการสนับสนุนระบบพลังงานสะอาดในภาคอุตสาหกรรม โดยร่วมมือกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่าง ราช กรุ๊ป พร้อมสร้างโมเดลที่ยั่งยืนในการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เติบโตอย่างสมดุลทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในบริบทที่พลังงานหมุนเวียนกำลังกลายเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต ไม่เพียงตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าและนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับประเด็น ESG และ Net Zero ตอกย้ำเจตนารมณ์ของบริษัทที่มีความมุ่งมั่นในการสร้างความยั่งยืนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม”
ด้านนายกล้าหาญ สุขไสว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ราชพัฒนา เอ็นเนอร์ยี จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า “โครงการ Solar Floating ดังกล่าว มีกำลังการผลิตรวม 4.12 เมกะวัตต์ ดำเนินการโดย บริษัท สหโคเจน กรีน จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ราชพัฒนา เอ็นเนอร์ยี จำกัด (มหาชน) หนึ่งในเครือของราช กรุ๊ป เพื่อผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ บริษัท เอจีซี ไมโคร กลาส (ประเทศไทย) จำกัด โดยคาดว่าจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 2 ปี 2569 ถือเป็นอีกก้าวที่สำคัญของการขยายธุรกิจด้านพลังงานหมุนเวียนร่วมกับเครือสหพัฒน์ ที่ได้สะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือที่ใกล้ชิดและความมุ่งมั่นในการพัฒนาพลังงานสะอาดร่วมกัน เพื่อรองรับการเติบโตและการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด ในภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างเป็นรูปธรรม ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนด้านพลังงาน แต่ยังเสริมความสามารถในการแข่งขัน ในระดับโลก พร้อมสนับสนุนเป้าหมายของประเทศในการมุ่งสู่ Net Zero อย่างมั่นคงและยั่งยืนอีกด้วย”